วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีไทยภาคอีสาน

ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร




       “นิทานพื้นบ้านเล่าสืบต่อกันมา  ผาแดงนางไอ่  พระยาคันคาก  ล้วนกล่าวถึงการจุดบั้งไฟถวายแด่พญาแถน  เพื่อเป็นการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล  หลาบสิบปีได้สืบทอดงานประเพณีบุญบั้งไฟ  ความสวยงามของการตกแต่งขบวนที่ยิ่งใหญ่  ควันสีขาวพุ่งทะยานไปตามบั้งไฟแสนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้า  ตามมาด้วยเสียงดังสนั่น  และเสียงลุ้นของผู้คน  สุดเร้าได้ทุกครั้งไป”

เมื่อถึงเดือน ๖ ชาวอีสานจะมีการจัดงานประเพณีที่สำคัญ  หนึ่งในฮีตสิบสอง  จากความเชื่อในการบูชาพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พร้อมเข้าสู่การทำนาครั้งใหม่  และกล่าวกันว่าหากหมู่บ้านใด  ชุมชนไหน  มิได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นในปีนั้นๆ  ฝนก็จะไม่ตก  พื้นดินก็จะแห้งแล้งไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดๆ ได้


วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประเพณีไทย




 ประเพณี เป็นกิจกรรมที่มีการปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เป็นเอกลักษณ์และมีความสำคัญต่อสังคม เช่น การ ประเพณีนั้นดีอยู่แล้วก็รักษาไว้เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หากไม่ดีก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ ประเพณีล้วนได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เข้าสู่สังคม รับเอาแบบปฏิบัติที่หลากหลายเข้ามาผสมผสานในการดำเนินชีวิต ประเพณีจึงเรียกได้ว่าเป็น วิถีแห่งการดำเนินชีวิตของสังคม โดยเฉพาะศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อประเพณีไทยมากที่สุด วัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีต่อสังคมไทย และชี้ให้เห็นว่าชาวไทยให้ความสำคัญในการบำรุงพุทธศาสนาด้วยศิลปกรรมที่งดงามเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่โบราณกาล เป็นต้น
ความเป็นมาของประเพณี

     ประเพณีมีบ่อเกิดมาจากสภาพสังคม ธรรมชาติ ทัศนคติ เอกลักษณ์ ค่านิยม โดยความเชื่อของคนในสังคมต่อสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์นั้นๆ เช่น อำนาจของดินฟ้าอากาศและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุต่างๆ ฉะนั้นเมื่อเวลาเกิดภัยพิบัติขึ้น มนุษย์จึงต้องอ้อนวอนร้องขอในสิ่งที่ตนคิดว่าจะช่วยได้พอภัยนั้นผ่านพ้นไปแล้ว มนุษย์ก็แสดงความรู้คุณต่อสิ่งนั้นๆด้วยการทำพิธีบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ตามความเชื่อ ความรู้ของตน เมื่อความประพฤตินั้นคนส่วนรวมสังคมยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียม หรือเป็นระเบียบแบบแผน และทำจนเป็นพิมพ์เดียวกัน สืบต่อๆกันจนกลายเป็นประเพณีของสังคมนั้นๆ


     ประเพณีและวัฒนธรรม เมื่อว่าโดยเนื้อความก็เป็นสิ่งอย่างเดียวกัน คือ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่มีอยู่ในธรรมชาติโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่สังคมหรือคนในส่วนรวมร่วมกันสร้างให้มีขึ้น แล้วถ่ายทอดให้แก่กันได้ด้วยลักษณะและวิธีการต่างๆว่าโดยเนื้อหาของประเพณี และวัฒนธรรมที่อยู่ในจิตใจของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องความคิดเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ ซึ่งสะสมและสืบต่อร่วมกันมานานในส่วนรวม จนเกิดความเคยชิน เรียกว่านิสัยสังคมหรือประเพณี


วัฒนธรรม 4 ภาค ราชอาณาจักรไทย


 ภาคกลาง

  ประเพณีการแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม


     “แสงนวลจากจันทร์วันเพ็ญส่องสว่างค่ำคืนให้รื่นเริงไปพร้อมกับเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ประจำปี  ผู้คนจากทั่วสารทิศร่วมบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยเคารพศรัทธา  เสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  แล้วร่วมแรงร่วมใจแห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  อิ่มบุญแล้วยังได้สนุกครึกครื้นไปกับบรรยากาศงานวัด  กิจกรรม  การประกวด  และการละเล่น  จึงมากมายรอยยิ้ม  ความสุขเช่นทุกๆ ปี”เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  พิธีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนานนับร้อยปีของชาวนครปฐม  เมื่อวันเวลาผ่านมาถึงคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี  องค์พระปฐมเจดีย์มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ  ดั่งได้เฝ้าอยู่เบื้องพระยุคลบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สร้างสิริมงคลแก่ชีวิต  ท่ามกลางแสงนวลจากจันทร์เต็มดวงในคืนวันเพ็ญ  ยามต้ององค์พระปฐมเจดีย์ปูชนียสถานซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานคู่แผ่นดินสุวรรณภูมิ  นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  นับอายุกว่าพันปีที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  ภายใต้พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ  ปากผายมหึมา  โครงสร้างเป็นไม้ซุง  รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา  ก่ออิฐ  ถือปูน  ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ  ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ  กำแพงแก้ว ๒ ชั้น  งดงามเคียงคู่กาลเวลาและอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ  แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์  โดยเชื่อกันมาแต่โบราณว่า  ถ้าถวายสิ่งของเครื่องใช้แด่พระภิกษุสงฆ์จะได้บุญกุศล  เป็นส่วนหนึ่งของการบูชาพระรัตนตรัย  โดยเฉพาะการถวายผ้ากาสาวพัสตร์จะได้บุญกุศลมาก  ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว  จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์  ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี  ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๑ รอบ  แล้วมาพักไว้บริเวณด้านหน้าองค์พระปฐมเจดีย์  ให้พุทธศาสนิกชนเขียนคำอุทิศส่วนกุศลลงบนผืนผ้า  ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง  และวันสุดท้ายของการจัดงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  จึงนำผ้าไปเวียนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ด้านใน  ตามแบบทักษิณาวัตรอีก ๓ รอบ  แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระเจดีย์เป็นอันเสร็จพิธีเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์  สะท้อนความศรัทธาสามัคคี  สืบสานประเพณี  ทำนุบำรุงพุทธศาสนา  ผู้เฒ่าผู้แก่  หนุ่มสาว  ลูกหลาน  ส่งต่อพิธีปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นให้คงอยู่คู่วิถีชีวิตต่อไป      

    –  ระยะเวลาจัดงาน : วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒  ถึง  วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒  รวม ๙ วัน ๙ คืน     
     –  สถานที่จัดงาน : วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

ประเพณีไทยภาคตะวันออก

 ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี


“ลานกว้าง  คือสนามประลองเจ้าแห่งความเร็วของเจ้าทุยเพื่อนรัก  สัตว์เลี้ยงคู่ใจชาวนาไทยครั้งอดีต  ที่ต่างวางคันไถ  ออกจากท้องนาขึ้นมาช่วงชิงชัยชนะในสนามการแข่งขันวิ่งควาย  ประเพณีที่สร้างความคึกคักเร้าใจ  ได้ทุกช่วงวินาทีที่ผู้บังคับประสานเป็นหนึ่งกับเจ้าทุย  ขับเคี่ยวกับคู่แข่งที่ขนาบทั้งซ้ายขวา  มุ่งหน้าเข้าสู่เส้นชัย  เพียงช่วงเวลาไม่กี่นาที”

ใกล้เข้าสู่เทศกาลออกพรรษา  ผ่านพ้นช่วงการไถหว่านของชาวนาที่มีควายไทยเป็นแรงงานหลักในการไถแปลงนาให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกข้าว  เมื่อทำงานหนักเสร็จสิ้นก็ได้เวลาในการพัก  แต่ระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ช่วงนี้เองที่ชาวนาจะได้มีโอกาสนำผลผลิตจากฤดูก่อนหน้ามาค้าขาย  แลกเปลี่ยนกันในตลาด  บางคนใช้ควายเป็นพาหนะขนของ  ยางคนก็แต่งองค์ทรงเครื่องให้ควายของตนสวยงาม  จนเมื่อเสร็จสิ้นการพบปะพูดคุย  จึงชักชวนกันนำควายของตนมาวิ่งแข่งขันกัน  จนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจวบจนปัจจุบัน

ประเพณีวิ่งควายจัดขึ้นทั่วไปตามชุมชนต่างๆ เริ่มตั้งแต่เขตเทศบาลเมืองชลบุรี  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง  จัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข  อำเภอเมือง  จัดขึ้นในวันทอดกฐินประจำปีของวัด  ซึ่งคุณสามารถเดินทางเข้ามาชมประเพณีนี้ได้ตามช่วงเวลาต่างๆ  ซึ่งแต่ละสถานที่ล้วนมากด้วยสีสัน  รวมทั้งความตื่นเต้นในการลุ้นว่าใครที่จะเป็นเจ้าแห่งความเร็วของประเพณีวิ่งควาย

ในปัจจุบัน  นอกจากชาวบ้านต่างเข้าชิงชัยในสนามแข่งขันประเพณีวิ่งควาย  และประดับประดาควายของตนด้วยผ้า  และแต่งแต้มสีสันสร้างลวดลายให้สวยงามแล้ว  ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างความสนุกสนาน  และแฝงไปด้วยสาระ  เริ่มต้นตรวจดูความแข็งแรงของควายในการประกวดสุขภาพ  สร้างขวัญและกำลังใจแก่คนและควายในพิธีสู่ขวัญควายตามแบบพิธีกรรมดั้งเดิม  อันเป็นการแสดงถึงความผูกพันระหว่างชาวนาและสัตว์เลี้ยงคู่ใจ  ถึงแม้ความสำคัญของควายไทยจะลดบทบาทลงไปมาก  แต่ชาวชลบุรีก็ยังสืบสานงานประเพณีวิ่งควายให้คงอยู่จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น  หนึ่งเดียวในประเทศไทย

          -   วันเวลาการจัดงาน : ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑  หรือก่อนออกพรรษา ๑ วัน  เรื่อยไป
          -   สถานที่จัดงาน : เทศบาลเมืองชลบุรี,  ตลาดหนองเขิน  อำเภอบ้านบึง,  วัดดอนกลาง  ตำบลแสนสุข
แหล่งที่มา





การละเล่นของไทย




     การเล่นกับเด็กเป็นของคู่กันมาตั้งแต่กาลครั้งไหน คงไม่มีใครทราบได้ 
แต่การเล่นก็เป็นเรื่องที่สืบ เนื่องแสดงถึงเอกลักษณ์ของชนชาติหรือท้องถิ่น
เป็นเรื่องที่ถ่ายทอดเข้าสู่กระแสชีวิตและตกทอดกันมาตั้งแต่ รุ่นปู่ย่าตายาย
ของปู่ย่าตายายโน่น เอาตั้งแต่เมื่อเราเกิดมาลืมตาดูโลกก็คงจะได้เห็น
ปลาตะเพียนที่ผู้ใหญ่แขวน ไว้เหนือเปลให้เด็กดู เล่น เป็นการบริหารลูกตา
 แหวกว่ายอยู่ในอากาศแล้ว พอโตขึ้นมาสัก 3-4 เดือน ผู้ใหญ่ก็จะสอนให้เล่น
 จับปูดำ ขยำปูนา แกว่งแขนอ่อน เดินไว ๆ ลูกร้องไห้ วิ่งไปวิ่งมา  
โดยที่จะคิดถึงจุดประสงค์อื่นใดหรือไม่สุดรู้ แต่ผลที่ตามมานั้นเป็นการหัดให้
เด็กใช้กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อแขนประสานกับสายตา

การละเล่นเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นกิจกรรม
ที่แฝงไว้ ด้วยสัญลักษณ์ หากศึกษาการเล่นของเด็กในสังคม เท่ากับได้ศึกษา
วัฒนธรรมของสังคมนั้นด้วย การละเล่นของเด็กไทย มีความหลากหลาย 
เช่น หมากเก็บ ว่าว โพงพาง รีรีข้าวสาร เป็นต้น 

วันสำคัญทางศาสนา


วันมาฆบูชา
  ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๓
"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชานั้น ย่อมาจากคำว่า"มาฆบุรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๓ วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ในวันพุทธศาสนา คือวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ เพื่อให้พระสงฆ์นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คุณธรรมจริยธรรมของครู


วินัยคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู


วินัยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

                   การประเมินวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู เพื่อให้ข้าราชการครู
 และบุคลากรทางทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ(ชำนาญการพิเศษ) จะประเมินใน 6 เรื่อง ได้แก่
     1.พฤติกรรมการรักษาระเบียบวินัย ได้แก่ การควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนเองให้อยู่ในกฎระเบียบของหน่วยงานและสังคมในกรณีมีความรับผิดชอบและซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
     2.การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ พฤติกรรมการปฏิบัติทั้งพฤติกรรมส่วนตนและพฤติกรรมการปฏิบ้ติงาน ทั้งในเรื่องความสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
     3.การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ได้แก่ การประพฤติปฎิบัติตนในการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเพียง การหลีกเลี่ยงอบายมุข การรู้รักสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต
     4.ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ ได้แก่ ความพึงพอใจและอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โดยมุ่งผลสำเร็จที่เป็นความเจริญก้าวหน้าของการจัดการศึกษา
     5.ความรับผิดชอบในวิชาชีพ ได้แก่ การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต และผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้รับบริการเป็นสำคัญ
     6.ค่านิยม และอุดมการณ์ของความเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ